วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม

เข่าเสื่อม (Knee Ostoearthritis) เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ข้อเข่า โดยมีสาเหตุสำคัญคืออายุที่มากขึ้น รวมไปถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น มีน้ำหนักตัวมาก เกิดอาการบาดเจ็บ หรือกรรมพันธุ์

เข่าเสื่อม

เข่าเสื่อมจะพบมากในวัยกลางคนจนไปถึงผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการรักษา โรคก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และเมื่อมีการเคลื่อนไหวก็จะทำให้เกิดการเสียดสีจนสึกกร่อน รู้สึกฝืดที่ข้อเข่า เข่าผิดรูปและทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือทำให้เกิดความยากลำบากและความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการเข่าเสื่อม

เมื่อต้องเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมบางอย่าง จะทำให้มีอาการเจ็บปวดและรู้สึกฝืดที่ข้อเข่า ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก รวมไปถึงเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวนาน ๆ ก็อาจทำให้เจ็บปวดและรู้สึกฝืดขัดที่ข้อเข้าได้เช่นกัน อาการอื่น ๆ ของเข่าเสื่อม ได้แก่

  • เมื่อต้องเคลื่อนไหวจะมีเสียงเสียงลั่นในข้อ
  • มีอาการกดเจ็บ
  • เข่าอ่อนแรงและเสียมวลกล้ามเนื้อ
  • ข้อเข่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มที่ เสียความยืดหยุ่น ข้อติดหรือขยับได้ยาก มักจะเกิดขึ้นเวลาเช้าหรือต้องนั่งเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความยากลำบากเวลาเดิน ขึ้นบันได หรือลุกจากเก้าอี้

ผู้ที่มีอาการสำคัญของเข่าเสื่อม เช่น อาการเจ็บปวด ข้อเข่าฝืด รวมไปถึงอาการที่กล่าวไปข้างต้น หากมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและหาทางรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อาการมีความรุนเแรงยิ่งขึ้น

สาเหตุของเข่าเสื่อม

สาเหตุของเข่าเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ปกป้องส่วนปลายกระดูกข้อต่อเสื่อมลง ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ได้กล่าวในข้างต้นตามมา เข่าเสื่อมที่มาจากสาเหตุอื่นหรือไม่ทราบสาเหตุ มีดังต่อไปนี้

  • อายุ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งความเสี่ยงในการเกิดเข่าเสื่อมจะมีมากขึ้นเมื่อมีอายุที่มากขึ้น แต่ก็สามารถเกิดกับผู้ที่อายุยังน้อยได้เช่นกัน โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป
  • การบาดเจ็บ ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ และแม้ว่าจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว แต่ก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเข่าเสื่อมได้ในอนาคต
  • เพศ เพศหญิงมีโอกาสเกิดเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป แต่ในกรณีนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
  • โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจทำให้ข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเข่าต้องรับน้ำหนัก 3-4 เท่าต่อน้ำหนักตัว  ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้เข่าเสื่อมได้เมื่อเวลาผ่านไป
  • กรรมพันธุ์ ผู้ป่วยข้ออักเสบบางรายจะพบว่ามีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคเข่าเสื่อม
  • เกิดจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ เข่าเสื่อมอาจมีสาเหตุจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดการทำลายของข้อต่อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าท์

นอกจากนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องยกของหนักหรือแบกรับน้ำหนักมาก ๆ เป็นเวลาติดต่อกันยาวนาน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเข่าเสื่อมได้มากขึ้น

การวินิจฉัยเข่าเสื่อม

แพทย์จะเริ่มต้นจากการถามประวัติ เช่น อาการ โรคประจำตัว หรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และตรวจสอบอาการต่าง ๆ จากการตรวจเข่า เช่น อาการบวมแดง อาการกดเจ็บ และดูการเคลื่อนไหวของข้อเข่า เพื่อช่วยให้วินิจฉัยได้ละเอียดและหาสาเหตุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือวินิจฉัยหาสาเหตอื่น ๆ ด้วยการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ เอกซเรย์ (X-rays) หรือใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI)

นอกจากนั้น แพทย์อาจตรวจน้ำในไขข้อหรือตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดข้อหรืออาการที่คล้ายเข่าเสื่อม เช่น รูมาตอยด์ โรคเก๊าท์  การอักเสบหรือการติดเชื้อต่าง ๆ

การรักษาเข่าเสื่อม

การรักษาเข่าเสื่อม จะมุ่งเน้นไปที่การลดความเจ็บปวดและช่วยให้เคลื่อนไหวได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยการรักษาจะอาศัยวิธีต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่

ปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต

  • ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก เพราะเมื่อมีน้ำหนักตัวเกินก็จะทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักมากและทำให้พัฒนาเป็นเข่าเสื่อมได้ในที่สุด
  • บริหารข้อเข่า บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอหรือยืดเหยียดเข่าเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามแข็งแรงจนสามารถช่วยพยุงข้อเข่าได้และเมื่อข้อเข่ามีความยืดหยุ่นสูงก็จะช่วยลดความเจ็บปวดได้ดี
  • การออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เพิ่มความตึงเครียดให้กับข้อมากเกินไป เช่น วิ่ง หรือเล่นเวท แนะนำให้ว่ายน้ำ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ข้อไม่ต้องรับแรงกดมาก นอกจากนั้น สามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยการเดินเร็วหรือปั่นจักรยาน สัปดาห์ละอย่างน้อย 150 นาที

การรักษาด้วยยา

  • ใช้ยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แต่ไม่ควรใช้ยานานเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง นอกจากนั้น หากใช้ยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาขอใช้ยาตามแพทย์สั่ง
  • ฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Cortisone Injections) สามารถช่วยลดการอักเสบและความเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แพทย์จะฉีดยาชาบริเวณข้อและฉีดยาเข้าไปที่ข้อของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับการฉีดได้ 3-4 ครั้งต่อปีเท่านั้น เพราะหากฉีดมากเกินไปอาจสร้างความเสียหายกับข้อได้อย่างถาวร
  • ฉีดกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) กรดไฮยาลูโรนิกเป็นส่วนสำคัญของน้ำในข้อต่อ ซึ่งการฉีดกรดไฮยาลูโรนิกเข้าไปที่เข่าจะช่วยเพิ่มความหล่อลื่นให้กับข้อเข่า

การรักษาทางเลือก

  • การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นวิธีรักษาแบบธรรมชาติตามศาสตร์แพทย์แผนจีน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสมดุลให้มวลกระดูกและกระตุ้นการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงที่ข้อ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาจะแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล
  • ใช้ครีมยาเฉพาะที่ เช่น แคปไซซิน (Capsaicin) เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อเข่าจากเข่าเสื่อม
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น คอนดรอยติน (Chondroitin) จะช่วยชะลอการแคบลงของช่องระหว่างข้อและลดอาการเจ็บข้อได้ แต่จะพบว่ามีส่วนน้อยที่ได้ผลและส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นเหมือนยาหลอกเสียมากกว่า ซึ่งยังต้องมีการเก็บข้อมูลมากขึ้น

กายภาพบำบัดหรือกิจกรรมบำบัด

การกายภาพบำบัด เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่ามีความแข็งแรงและเรียนรู้วิธีเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อจากนักกายภาพบำบัด ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ปวดน้อยลงและขยับเคลื่อนไหวได้มากขึ้น

กิจกรรมบำบัด ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้วิธีใช้ชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม เช่น การทำงานบ้านหรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้มีความเจ็บปวดน้อยที่สุด

การผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและการรักษาอื่น ๆ ไม่เป็นผล การผ่าตัดก็จะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์จะใช้ในการรักษา โดยจะมี 3 รูปแบบ ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อให้ผิวข้อเข้ามาชิดกัน (Arthrodesis) ศัลยกรรมเปลี่ยนข้อเข่า (Arthroplasty) หรือการตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy) เป็นต้น วิธีการผ่าตัดขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละบุคคล โดยมีการปรึกษาร่วมกันทั้งประโยชน์และภาวะแทรกซ้อนก่อนการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของเข่าเสื่อม

ภาวะแทรกซ้อนของเข่าเสื่อมที่อาจเกิดขึ้น เช่น

  • การตายของกระดูก (Osteonecrosis)
  • เส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อต่อแตกหรือเสื่อมสภาพ
  • เลือดออกในข้อต่อ
  • ติดเชื้อในข้อต่อ

นอกจากนั้น ภาวะแทรกซ้อนของเข่าเสื่อมมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อข้อเข่ามีอาการปวดหรือฝืดแข็งอย่างรุนแรงจนทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สะดวก โดยแพทย์อาจให้ทำการผ่าตัด

การป้องกันเข่าเสื่อม

การป้องกันเข่าเสื่อมไม่ให้ทรุดลงหรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก สามารถทำได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย หรือการควบคุมน้ำหนัก หากปรับพฤติกรรมเหล่านี้ให้ไปในทางที่ดีขึ้นได้ นอกจากจะดีต่ออาการของข้อเสื่อมแล้ว ยังมีผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยอีกด้วย

ผู้ป่วยเข่าเสื่อมที่กำลังรักษาด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยควรติดต่อ หรือขอคำปรึกษากับทีมแพทย์ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดขึ้นในระยะยาวและควรได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อผู้ป่วยพบว่าตนเองมีอาการหรือความกังวลใด ๆ เกิดขึ้น ก็ควรแจ้งให้ทีมแพทย์ผู้ดูแลทราบ เพื่อที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุด

นอกจากนั้น ผู้ป่วยยังสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ประคบร้อน ประคบเย็น เพราะความร้อนและความเย็นจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้  โดยความร้อนจะช่วยบรรเทาข้อฝืด ส่วนความเย็นจะช่วยลดการหดเกร็งและความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ
  • ใช้ที่รัดเข่า ผู้ป่วยสามารถสอบถามวิธีที่ถูกต้องในการใช้เทปรัดเข่าจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด จะทำให้ได้รู้ว่าควรพันที่ตำแหน่งใดจึงจะเหมาะกับอาการของตนที่สุด
  • ใช้ครีมหรือเจลบรรเทาปวด ครีมหรือเจลบรรเทาปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป สามารถช่วยบรรเทาปวดจากเข่าเสื่อมได้ชั่วคราว
  • อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินหรืออุปกรณ์เสริมรองเท้า อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยลดแรงกดและรองรับน้ำหนักที่ข้อเข่า ซึ่งแพทย์อาจแนะนำอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถยืนหรือเดินได้สะดวกยิ่งขึ้น




Cr  ::   เว็บไซต์  pobpad.com



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Whey Protein Isolate (เวย์โปรตีนไอโซเลท)

Whey Protein Isolate   ( เวย์โปรตีนไอโซเลท) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Whey Protein Isolate   ( เวย์โปรตีนไอโซเลท) คุณประโ...